วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

วิธีสร้างภูมิคุ้มกันในการซื้อบ้าน จาก สคบ.

   แม้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานในธุรกิจไปมากเมื่อเทียบกับยุค สมัยก่อนที่คนซื้อบ้านมีความเสี่ยงสูง ในการที่จะไม่ได้บ้านตามสัญญา หรือได้มาก็มีคุณภาพที่ไม่ดี แต่ก็ใช่ว่าในปัจจุบัน ทุกข์ของคนซื้อบ้านจะหมดไป ทุกวันนี้ยังคงมีเรื่องร้องเรียนของคนซื้อบ้านอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่รูปแบบของปัญหาได้เปลี่ยนแปลงไปจากก่อน 

รัศมี วิศทเวทย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้แจกแจงให้ฟังว่า เมื่อก่อนปัญหาของผู้ซื้อบ้านส่วนใหญ่ คือผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามสัญญาซื้อบ้าน แต่ไม่ได้บ้าน โดยเฉพาะหลังประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทพัฒนาที่ดินเจ๊งกันเป็นระนาว เดือดร้อนลามไปถึงคนซื้อบ้านจนถึงทุกวันนี้เรื่องร้องเรียนจากโครงการเก่าๆ ที่ยังไม่ได้สร้างก็ยังมีอยู่อย่างสม่ำเสมอ ส่วนปัญหาในรูปแบบใหม่ เลขาฯ สคบ.บอกว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐานตามสัญญาพร้อมกับย้ำว่า ผู้บริโภคในยุคที่เศรษฐกิจเริ่มตกสะเก็ดจะต้องระวังคือ เรื่องของมาตรฐานของวัสดุก่อสร้างที่ผู้ประกอบธุรกิจหัวใส ไม่ใส่ใจผู้บริโภค แอบลดสเปกลงเพื่อลดต้นทุน หากไม่ตรวจตราในระหว่างก่อสร้างได้ดี วันดีคืนดีบ้านอาจจะทรุดหรือพังเอาได้ง่ายๆ 

                                                      

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่เป็น เรื่องร้องเรียนท็อปฮิตของ สคบ.ในเวลานี้ คือ การขอเงินดาวน์หรือเงินทำสัญญาคืนจากโครงการอันเนื่องมาจากกู้เงินไม่ผ่าน เรื่องมีอยู่ว่า โครงการหลายแหล่งใช้แคมเปญกู้ 100% เพียงแค่ให้ลูกค้าวางเงินจอง 3 หมื่นบ้าง 5 หมื่นบ้าง พร้อมกับคำยืนยันจากพนักงานขายว่า ถ้ากู้ไม่ผ่านทางโครงการพร้อมจะคืนเงินให้ แต่พอกู้เงินไม่ผ่านเข้ามาจริงๆ กลับถูกบิดพลิ้ว โดยอ้างว่า สัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้ระบุไว้ทำให้ต้องเสียเงินฟรีๆ ให้ช้ำใจ สคบ.ต้องรับหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยให้ ทั้งๆ ที่ในแง่กฎหมาย ผู้บริโภคไม่มีทางสู้ได้เลย ดังนั้น เมื่อไม่มั่นใจว่าจะกู้เงินผ่านหรือไม่ กรุณาอย่าหลงเชื่อคารมพนักงานขาย แต่ขอให้มีข้อความว่าจะคืนเงินให้เอาไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายดูจะปลอดภัย ที่สุด คราวนี้ลองมาดูว่า สคบ.มีข้อแนะนำในการซื้อบ้านและอาคารชุดอย่างไร 

ก่อน ที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจวางเงินจอง เงินมัดจำ เงินดาวน์ และทำสัญญาจะซื้อจะขาย ควรตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของโครงการให้ถูกต้อง ชัดเจน ดังนี้ 

- ผู้ประกอบธุรกิจเคยถูกร้องเรียนมาแล้วหรือไม่ โดยสอบถามข้อมูลได้ที่ สคบ. 
- ชื่อและที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจถ้าเป็นนิติบุคคลควรตรวจสอบว่า ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ถูกต้องหรือไม่ มีทุนจดทะเบียนเท่าไหร่ ทุนที่ชำระแล้วเท่าไหร่ ใครเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท สอบถามข้อมูลได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด -ที่ดินที่ตั้งโครงการมีโฉนดถูกต้องหรือ ไม่ ตรวจเลขที่โฉนด ใครเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินหรือยัง ตรวจสอบข้อมูลได้จากกรมที่ดินหรือสำนักงานที่ดินจังหวัด 
- ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของโครงการได้รับอนุญาตก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ ที่ดินแปลงดังกล่าวถูกเวนคืนหรือไม่ ตรวจสอบได้ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร สำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด หรือเทศบาล
- ที่ดินที่ตั้งโครงการมีภาระผูกพันกับนิติบุคคลหรือสถาบันการเงินหรือไม่ กล่าวคือ มีการจำนองหรือฝากขายไว้กับผู้ใด ตรวจสอบได้จากกรมที่ดินหรือสำนักงานที่ดินจังหวัด 
- ตรวจรายละเอียดเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกของโครงการเช่น ถนน น้ำประปา ไฟฟ้า ว่าเจ้าของโครงการได้ดำเนินการไว้แล้วหรือยัง ถ้ายัง ให้สอบถามว่าจะดำเนินการเมื่อใด เสร็จเมื่อใด 
- ตรวจสอบว่าผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินประเภทใด เช่น จัดสรรเป็นที่อยู่อาศัย เป็นนิคมอุตสาหกรรม หรือจัดสรรเป็นที่ประกอบการพาณิชย์ เพื่อจะได้เลือกซื้อให้เหมาะสม ตามวัตถุประสงค์และประโยชน์ใช้สอย
- ตรวจสอบวิธีผ่อนชำระเงินว่าจะต้องผ่อนอย่างไร งวดละเท่าไหร่ ระยะเวลานานเท่าใด 

                                             

ทั้งนี้ ผู้บริโภคอย่าตัดสินใจซื้อบ้านโดย เชื่อจากคำโฆษณาเพียงอย่างเดียวและควรต้องเก็บเอกสารคำโฆษณา และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเอาไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจ ในกรณีที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคขึ้นผู้บริโภคมีหน้าที่ในการดำเนิน การร้องเรียนตามสิทธิของตน โดยร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสินค้าหรือบริการ นั้น หรือร้องเรียนมาที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคต่างจังหวัดโดยการเต รียมตัวเพื่อร้องทุกข์สำหรับผู้บริโภคมีดังนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง ผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 มาตรา 4 ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับการคุ้มครอง 5 ประการได้แก่
 - สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ - สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ 
- สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ 
- สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา 
- สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ดังนั้น การร้องทุกข์เมื่อได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือบริการถือเป็น เรื่องที่ชอบธรรมที่ผู้บริโภคควรกระทำ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ความเสียหาย และเพื่อเป็นการลงโทษหรือปรามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค


ที่มา :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
รูปภาพประกอบ : homechiangmai , www.ocpb.go.th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น